สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ ของ โอลกา คอนสแตนตินอฟนา แห่งรัสเซีย

อภิเษกสมรส

แกรนด์ดัชเชสโอลกาและพระเจ้าจอร์จอภิเษกสมรสกันที่โบสถ์ในพระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก วันที่ 27 ตุลาคม [ปฏิทินเก่า 15 ตุลาคม] ค.ศ. 1867 และมีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเป็นเวลาห้าวันเต็ม ในระหว่างพระราชพิธี แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงฉลองพระองค์ตามแบบราชวงศ์โรมานอฟดั้งเดิม ฉลองพระองค์เย็บด้วยด้ายเงิน ตามแบบฉลองพระองค์ของจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย โดยคล้องด้วยห่วงโซ่เพชรขนาดใหญ่และผ้าคลุมตัวเออร์มินสีกำมะหยี่แดง แกรนด์ดัชเชสยังทรงมงกุฎเพชรโคโคชนิค ประดับด้วยตรามหามงกุฎขนาดเล็กด้านบน และทรงปล่อยพระเกศาสามเส้นให้ลงมาแตะพระอังสา (ไหล่)[15]

หลังจากงานเลี้ยงทั้งห้าวันผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งสองพระองค์ทรงใช้เวลาฮันนีมูนในช่วงสั้น ๆ ที่พระราชวังรอปชา ซึ่งห่างจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 50 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังกรีซ ซึ่งสมเด็จพระราชินีผู้ทรงพระเยาว์ได้เสด็จมาครั้งแรก[15] แต่ก่อนที่จะเสด็จออกจากรัสเซีย พระนางโอลกาได้เสด็จไปพบกับพระปิตุลาของพระองค์ คือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 พระเจ้าซาร์ทรงบอกให้พระนางโอลกา "รักประเทศใหม่ให้มากกว่าตัวเองเป็นสองเท่า"[16]

การปรับตัวที่ยากลำบาก

การปรับพระองค์ของสมเด็จพระราชินีโอลกาต่อประเทศใหม่เป็นเรื่องยาก ก่อนที่เสด็จออกจากรัสเซียและลาจากครอบครัวของพระองค์ พระองค์ยังทรงพระเยาว์และสัมภาระที่ทรงขนมาส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยตุ๊กตาและของเล่น พระอภิบาลของพระองค์ยังกังวลถึงความเยาว์ของพระนางที่ต้องเสด็จไปยังเอเธนส์ พระองค์จึงต้องเสด็จไปพร้อมกับผู้ดูแลตำหนักเพื่อช่วยในการถวายการศึกษา[15]

พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกา ใน ค.ศ. 1867

เมื่อสมเด็จพระราชินีโอลกาและพระเจ้าจอร์จได้เสด็จถึงเมืองไพรีอัสโดยเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระราชินีวัยเยาว์ทรงฉลองพระองค์สีน้ำเงินและขาว ซึ่งเป็นสีประจำชาติกรีซ เพื่อให้ฝูงชนประทับใจ ในระหว่างเดินทางสู่เมืองหลวง ได้เกิดการก่อความไม่สงบครั้งใหญ่ โดยสมเด็จพระราชินีโอลกาซึ่งไม่ทรงคุ้นเคยกับการเดินขบวนประท้วงดังกล่าว ทำให้พระองค์เกือบทรงพระกันแสง แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระราชินีไม่ทรงมีเวลาพักผ่อนเนื่องจากทรงต้องปฏิบัติพระกรณียกิจในงานเต้นรำซึ่งตัวแทนทางการได้จัดขึ้นซึ่งใช้เวลาหลายวันและในขณะที่พระนางไม่สามารถเข้าใจภาษากรีกได้ ซึ่งในที่สุดแล้ว มีคนไปพบสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงพระกันแสงอยู่ใต้บันไดและทรงกอดตุ๊กตาหมีแน่น ในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่เสด็จถึงราชอาณาจักร ซึ่งพระนางทรงเป็นที่คาดหวังของกิจกรรมของทางการ[17]

สมเด็จพระราชินีโอลกายังคงเป็นเด็กสาวที่ทรงเข้าพระทัยดีและพระองค์พยายามเรียนรู้การปฏิบัติตนในฐานะพระราชินี ดังนั้นพระองค์ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเรียนรู้ภาษากรีกและภาษาอังกฤษ[2] พระองค์ยังทรงเรียนรู้วัตรปฏิบัติของผู้ปกครองและการต้อนรับผู้มาเยือน ในขั้นตอนแรกพระองค์ยังทรงลังเลพระทัย แต่ทรงสามารถสร้างความประทับใจอย่างมากในการเสด็จออกรับแขกอย่างเป็นทางการครั้งแรก เนื่องจากมีพระบุคลิกที่น่าเคารพซึ่งทรงแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่น พระเจ้าจอร์จที่ 1 ตรัสถึงว่าพระราชินีทรงทำได้ดี[18]

ในการเรียนรู้วัตรปฏิบัติของพระราชินี สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงขอคำปรึกษาจากพระสวามีและครอบครัวของพระองค์ พระองค์ทรงติดต่อกับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน พระบิดาและแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา พระมารดา ซึ่งพระมารดาทรงแนะนำให้พระองค์สนพระทัยในโบราณคดีและประวัติศาสตร์กรีกสมัยโบราณเพื่อให้ทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชน[19]

พระชนม์ชีพส่วนพระองค์

สมเด็จพระราชินีโอลกาและเจ้าชายคริสโตเฟอร์ พระโอรสองค์สุดท้อง ในค.ศ. 1889

ตลอดชีวิตการสมรส พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเป็นคู่ที่มีความใกล้ชิด แม้ว่ากษัตริย์จะทรงเคยนอกพระทัยเป็นครั้งคราว แต่สมเด็จพระราชินีก็ทรงยอมรับได้[20][21] และในทางกลับกันทรงปฏิบัติต่างจากธรรมเนียมในสมัยนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงใช้เวลาร่วมกันบ่อยครั้ง มีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ ซึ่งเจริญพระชันษาภายใต้การอบรมเลี้ยงดูที่อบอุ่น[22] แต่เนื่องด้วยวัย พระเจ้าจอร์จที่ 1 มักจะทรงโต้เถียงกับพระโอรส และสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเสียพระทัยบ่อยครั้งเมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทซึ่งมักจะมีเป็นระยะในครอบครัว[23]

โดยส่วนพระองค์แล้ว พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกามักจะตรัสภาษาเยอรมันเนื่องจากเป็นเพียงภาษาเดียวที่ทั้งสองพระองค์สามารถสื่อเข้าพระทัยกันได้ ในความเป็นจริงช่วงนั้น พระเจ้าจอร์จที่ 1 ไม่ทรงสันทัดในภาษาฝรั่งเศสและภาษารัสเซีย ในขณะที่สมเด็จพระราชินีไม่สามารถตรัสภาษาเดนมาร์ก ดังนั้นจึงตรัสภาษากรีกหรือไม่ก็ภาษาอังกฤษ[24] แต่เมื่อต้องตรัสกับพระโอรสธิดา ทั้งสองพระองค์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก[25] แม้ว่าพระโอรสธิดาจะต้องตรัสเป็นภาษากรีกด้วยพระองค์เอง[26] เจ้าชายแอนดรูว์ทรงปฏิเสธที่จะตรัสภาษาอื่น ๆ กับพระราชบิดาและพระราชมารดา ยกเว้นแต่เพียงภาษากรีกเท่านั้น[27]

ในกรีซ พระชนม์ชีพของพระราชวงศ์ค่อนข้างเงียบและถอนตัวออกจากสังคม ราชสำนักเอเธนส์ไม่ได้โอ่อ่าและหรูหรานักเมื่อเทียบกับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก[28] และในบางครั้งเมืองหลวงของกรีซได้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อสำหรับสมาชิกราชวงศ์[29] ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว พระราชวงศ์ได้แบ่งไปประทับที่พระราชวังหลวงในเอเธนส์ และพระราชวังตาโตยที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูเขาพาร์นิธา จากนั้นในช่วงฤดูร้อน พระราชวงศ์ได้ประทับที่มอนเรปอส, คอร์ฟู และเสด็จไปประทับต่างประเทศที่อิกซ์เลส์แบ็งส์ในฝรั่งเศส ไม่ก็จะเสด็จไปเยี่ยมเมืองหลวงของรัสเซีย หรือ พระราชวังฟรีเดนบอร์กและพระราชวังเบิร์นสตอฟฟ์ในเดนมาร์ก[30] พระญาติจากต่างประเทศก็จะเสด็จมากรีซบ่อย ๆ (จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย, ซาเรวิชแห่งรัสเซีย, เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เป็นต้น)[31]

เมื่อประทับอยู่ในเมืองหลวงของกรีซ เป็นเรื่องที่ไม่ปกติที่พระราชวงศ์ได้ใช้เวลาในวันอาทิตย์ไปที่ฟาเลรัม และทรงพระดำเนินไปบนทะเลริมหาด สมเด็จพระราชินีโอลกาและพระโอรส เจ้าชายจอร์จจะประทับรถม้าโดยสารประจำทางกลับพระราชวัง ในเส้นทางที่สงวนไว้สำหรับพระราชวงศ์เท่านั้น เมื่อรถม้าหยุด มีเสียงแตรดังมาจากพระราชวังและพระราชวงศ์ต้องเสด็จลงจากรถม้าโดยเร็ว เนื่องจากทรงปรารถนาที่จะไม่ให้ผู้โดยสารคนอื่นรอนาน ทัศนคตินี้ทำให้พระราชวงศ์ยังคงสามารถรักษาความนิยมในหมู่ประชาชนได้ พระเจ้าจอร์จที่ 1 เคยตรัสกับพระโอรสธิดาว่า "จงอย่าลืมว่าตนเองเป็นชาวต่างชาติในหมู่ชาวกรีก และต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำให้พวกเขาจดจำเราในเรื่องนี้ได้"[31]

สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงทุกข์ทรมานมากกว่าพระสวามีของพระองค์ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากพระอุปนิสัยดั้งเดิมของพระนางและทรงคิดถึงพระชนม์ชีพของพระองค์ในรัสเซียมาก ห้องประทับของพระองค์เต็มไปด้วยรูปเคารพที่มาจากรัสเซีย และในพระวิหารของพระราชวัง พระองค์ทรงร้องเพลงสวดเป็นภาษาสลาฟร่วมกับพระโอรสธิดา โดยเมื่อเรือสัญชาติรัสเซียผ่านเมืองหลวง พระองค์มักจะเสด็จเยี่ยมเรือรัสเซียซึ่งเทียบท่าที่ไพรีอัสและพระองค์ทรงเชิญกะลาสีชาวรัสเซียมายังพระราชวัง[32] นับตั้งแต่อภิเษกสมรสในค.ศ. 1867 สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเป็นสตรีเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทรงได้รับตำแหน่งจอมพลแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งเป็นเกียรติยศที่ทรงได้รับพระราชทานในวันอภิเษกสมรส[14] พระองค์ได้รับเกียรติจากกองทัพเรือกรีซในการตั้งนามเรือตามพระนามของพระองค์[33]

เมื่อเจ้าชายคริสโตเฟอร์ พระโอรสองค์ที่แปดและองค์สุดท้ายของพระเจ้าจอร์จและพระราชินีโอลกา ประสูติในค.ศ. 1888 พระองค์ทรงเรียกพระโอรสว่า "เจ้ารัสเซียตัวน้อย" ของพระองค์ เนื่องจากพระองค์มีพระประสูติกาลพระโอรสธิดาองค์ก่อนหน้านี้ในกรีซ ส่วนเจ้าชายคริสโตเฟอร์ประสูติที่พระราชวังปาฟลอฟก์ พระโอรสมีพระบิดามารดาอุปถัมภ์คือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 พระเทวันและจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา พระขนิษฐาในพระเจ้าจอร์จที่ 1[34] ในปีถัด ๆ มา สมเด็จพระราชินีทรงพอพระทัยอย่างมากในการเสกสมรสพระโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ได้แก่ เจ้าชายนิโคลัส, เจ้าหญิงอเล็กซานดราและเจ้าหญิงมาเรีย เสกสมรสกับพระราชวงศ์โรมานอฟ โดยการเสกสมรสนี้เป็นสาเหตุที่พระองค์จะได้เสด็จไปรัสเซียบ่อย

อิทธิพลทางการเมือง

สมเด็จพระราชินีโอลกาแห่งกรีซ ใน ค.ศ. 1880

เนื่องจากทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์โรมานอฟ สมเด็จพระราชินีโอลกาจึงทรงต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรงและทรงสนับสนุนระบอบอัตตาธิปไตย เจ้าชายนิโคลัส พระโอรสของพระองค์ทรงเขียนบันทึกความทรงจำของพระองค์ว่า วันหนึ่งเมื่อพระองค์ตรัสถึงความสำคัญของมติมหาชน สมเด็จพระราชินีทรงโต้แย้ง (ในภาษาฝรั่งเศส) ว่า "แม่ชอบที่จะถูกปกครองโดยราชสีห์ตัวหนึ่งที่เติบโตมาอย่างดีมากกว่าที่จะถูกปกครองโดยพวกหนูสี่ร้อยตัวที่เป็นแบบเดียวกับตัวแม่นะ"[35]

แต่ความสนพระทัยในการเมืองของพระองค์กลับถูกจำกัด ถึงแม้นักเขียนบางคนเสนอว่าพระองค์ทรงสนับสนุนพรรครัสเซียและแนวคิดแพนสลาฟก็ตาม[36] แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าพระองค์ไม่ทรงมีอิทธิพลทางการเมืองใด ๆ เหนือพระสวามีและไม่ทรงใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงระบบรัฐสภาของกรีซ[37][38] ในความเป็นจริง พระเจ้าจอร์จที่ 1 มักจะทรงเคารพในรัฐธรรมนูญตลอดรัชกาลของพระองค์และไม่ทรงถูกอิทธิพลในพระราชวงศ์เข้าครอบงำเมื่อทรงต้องตัดสินพระทัยทางการเมือง[39] แต่อิทธิพลของพระประมุขกลับเห็นได้ชัดมากขึ้นในพระราชบุตร โดยพระโอรสพระองค์ที่สองคือ เจ้าชายจอร์จ ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งรัฐครีตในระหว่าง ค.ศ. 1898 ถึง ค.ศ. 1906 ตามบันทึกของเอ็ดเวิร์ด เดรียอุลท์ และมิเชล รีริเทียร์ บันทึกว่า พระนางโอลกาและเจ้าชายทรงมีส่วนร่วมอย่างมากในการทำให้นโยบายของพระองค์มั่นคงยิ่งขึ้นซึ่งท้ายที่สุดนโยบายประสบความล้มเหลว[40]

ด้วยทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระประมุขแห่งรัสเซีย ทั้งสองพระองค์จึงต้องทรงดำเนินการปกครองเพื่อปกป้องกรีซ เมื่อครั้งที่พระนางโอลกาทรงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก (หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามกรีซ-ตุรกี (1897)[41]) เนื่องจากทรงกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ให้ชาวสลาฟต่อต้านราชอาณาจักรกรีซ ดังนั้นในช่วงต้นของสงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่ง สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงแสดงจุดยืนต่อต้าานอิทธิพลของบัลแกเรียในเทสซาโลนีกีและไม่ทรงลังเลที่จะมีกระแสพระราชดำรัสในเชิงรักชาติก่อนพระเจ้าซาร์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งบัลแกเรีย[42] แต่ดูเหมือนว่าสมเด็จพระราชินีโอลกาจะไม่ทรงเชื่อในแนวคิดที่ชาวกรีกจะทำการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลคืนจากออตโตมัน เนื่องจากในจุดนี้ทรงโปรดให้รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลเหนือช่องแคบมากกว่า[43]

ท้ายที่สุด บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระราชินีโอลกาจะเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์เสียส่วนใหญ่และอิทธิพลลดลงอย่างมากเหลือเพียงการเสด็จออกมหาสมาคมต้อนรับผู้มาเยือนในเอเธนส์ เหล่าสตรีชนชั้นสูงและเจ้าหน้าที่ต่างประเทศชาวกรีก ซึ่งต้องปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าพระองค์[44] แต่พระองค์ก็ทรงไปให้ความสำคัญแก่พระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์แทน

พระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์

สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอมาลีเอียน กรุงเอเธนส์

สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงได้รับความนิยมโดยแท้จริงและทรงมีส่วนร่วมในงานการกุศลอย่างกว้างขวาง[10][45] พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยที่ทรงเป็นชาวต่างชาติที่แตกต่างจากชาวกรีก เมื่อครั้งเสด็จมาถึงเอเธนส์ ในช่วงนั้นมีพระประมุขเพียง 16 พระองค์ที่มีพระราชกรณียกิจด้านการกุศลในการสงเคราะห์ผู้ป่วย ขอทาน เด็กและสตรี สมเด็จพระราชินีโอลกาจึงทรงอุปถัมภ์สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอมาลีเอียน ซึ่งเป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระราชินีอมาเลียแห่งกรีซ สมเด็จพระราชินีองค์ก่อนหน้า ซึ่งตั้งอยูเบื้องหลังสวนของพระราชวัง และทรงอุปถัมภ์โรงเรียนอาร์ซาเคโอซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงก่อตั้งสถาบันต่าง ๆ เพื่อคนยากจน พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคจากผู้ร่ำรวย ในการสร้างโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและสำหรับผู้พิการซึ่งสูงอายุ และทรงสร้างสถานพักฟื้นผู้ป่วยสำหรับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค[46]

ในเมืองหลวง พระองค์ทรงก่อตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและช่วยเหลือให้บุตรของคนยากจนเข้าเรียนระดับอนุบาล และทรงมีครัวซุปในไพรีอัสซึ่งเป็นโรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับเด็กสาวที่ยากจน สถาบันนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนสอนในวันอาทิตย์สำหรับบุตรสาวของแรงงาน และได้ขยายเป็นโรงเรียนสอนทอผ้าสำหรับเด็กหญิงและสตรีสูงวัยที่ประสบปัญหาด้านการเงิน[47]

ก่อนการเสด็จมายังกรีซของพระนางโอลกา ในกรีซมีเพียงฑัณฑสถานประเภทเดียว ซึ่งทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเยาวชนที่กระทำผิดได้ถูกจองจำในสถานที่เดียวกัน แต่อันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินจากจอร์จ อเวรอฟ นักปรัชญา ทำให้พระองค์สามารถก่อตั้งอาคารฑัณฑสถานหญิงในเมืองหลวงและอาคารอีกแห่งสำหรับเยาวชนที่ประทำผิด การดำเนินการนี้ทำให้เกิดการปฏิรูประบบเรือนจำทั่วประเทศ[48]

จอร์จ อเวรอฟ ผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินในการสังคมสงเคราะห์

พระองค์ยังทรงอุปถัมภ์โรงพยาบาลทหารสองแห่งและทรงบริจาคพระราชทรัพย์แก่โรงพยาบาลอีวานเกลิสมอส ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในย่านดาวน์ทาวน์ของกรุงเอเธนส์[10][49] สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงก่อตั้งโรงพยาบาลรัสเซียในไพรีอัส จากบันทึกความทรงจำของแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดราแห่งรัสเซีย พระราชธิดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ที่มอสโกในค.ศ. 1891 ระบุว่าถึงแม้โรงพยาบาลจะเปิดรับกะลาสีเรือชาวรัสเซียเป็นหลัก แต่โรงพยาบาลก็เปิดบริการให้แก่นักเดินเรือทุกคนที่เดินทางมายังกรีซ ด้วยค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำในราคาสามสิบเล็บตาและไม่ต้องเสียเงินค่ายา[50]

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งใหญ่ของสมเด็จพระราชินีคือ การเกื้อหนุนการก่อตั้งโรงพยาบาลอีวานเกลิสมอส ซึ่งสร้างด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากอันเดรียส ซินกรอส นายธนาคารผู้มีจิตกุศล โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นสถาบันที่มีความทันสมัยมาก ซึ่งให้บริการทั้งเป็นสถานรักษาและโรงเรียนการพยาบาลภายใต้การดูแลของมิสไรน์ฮาร์ด ซึ่งเป็นพยาบาลชาวเดนมาร์กที่ได้เดินทางมายังกรีซในช่วงสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน ในสงครามกรีก-ตุรกี (1897) เมื่อประทับอยู่ในเมืองหลวง พระองค์จะเสด็จไปเยือนโรงพยาบาลนี้เกือบทุกวันเพื่อเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยและตรวจสอบการดำเนินงานของโรงพยาบาล[51][52].

ในช่วงรัชกาลของพระเจ้าจอร์จที่ 1 สมเด็จพระราชินีโอลกายังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะพยาบาลในช่วงที่กรีซเกิดปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพระนางโอลกาพร้อมพระราชธิดาและพระสุณิสา ได้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลภาคสนามในแนวหน้าของสมรภูมิและเสด็จดูแลทหารที่บาดเจ็บด้วยพระองค์เอง ในช่วงสงครามกรีก-ตุรกี (1897) และสงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่ง (1912-1913)[53] การปฏิบัติพระราชกิจเพื่อผู้บาดเจ็บทำให้พระนางทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์กาชาดพร้อมกับเจ้าหญิงโซเฟียแห่งปรัสเซีย พระสุณิสา โดยทางได้รับการพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1897[54]

ไม่นานหลังจากความพ่ายแพ้ของกรีซในสงครามกรีก-ตุรกี ค.ศ. 1897 ได้เกิดการลอบปลงพระชนม์พระสวามีและพระราชธิดาของพระองค์ด้วยกระสุนปืนจากชาวกรีกที่ไม่พอใจ ใน ค.ศ. 1898 แม้การลอบปลงพระชนม์จะล้มเหลว แต่สมเด็จพระราชินีโอลกายังทรงปฏิบัติพระราชกิจต่อไปโดยไม่มีทหารองครักษ์คุ้มกัน[10] การประกอบพระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์นี้ ทำให้สมเด็จพระราชินีทรงได้รับความนิยมในหมู่พสกนิการอย่างรวดเร็วและทรงกลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งกรีซที่ทรงได้รับความนิยมที่สุดในประวัติศาสตร์[55] แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระสวามี

ความขัดแย้งอีวานเกลีกา

ดูบทความหลักที่: การจลาจลพระวรสาร
การจลาจล อีวานเกลีกา ในกรุงเอเธนส์ ค.ศ. 1901

ในฐานะที่ทรงเป็นอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ตั้งแต่ประสูติ สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเริ่มตระหนักถึงในช่วงที่เสด็จเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสงครามกรีก-ตุรกี (1897) ซึ่งมีทหารหลายนายไม่มีความสามารถในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้[16] พระคัมภีร์รูปแบบที่ใช้โดยศาสนจักรกรีซนั้นได้รวมทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลกรีก (Septuagint) ในภาคพันธสัญญาเดิมและพระคัมภีร์ภาษากรีกดั้งเดิมในภาคพันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์ทั้งสองฉบับได้เขียนขึ้นด้วยภาษาโคอีนกรีก ในขณะที่บรรพบุรุษของพระนางทรงใช้รูปแบบคาทารีโวซา หรือที่เรียกว่า รูปแบบอักษรเดโมติกกรีกในภาษากรีกสมัยใหม่ คาทารีโวซาเป็นรูปแบบภาษาทางการ ซึ่งได้ประกอบจากรูปแบบคำโบราณในคำภาษากรีกสมัยใหม่ โดยได้ดัดแปลงปรับปรุงด้วยการใช้คำศัพท์ "ที่ไม่ใช่กรีก" จากภาษาอื่น ๆ ในยุโรปและภาษาตุรกี และยังมีรูปของไวยกรณ์โบราณประกอบด้วย (ซึ่งแก้ไขให้เข้าใจง่าย) ภาษากรีกสมัยใหม่ หรือกรีกเดโมติกนี้เป็นรูปแบบภาษาที่มีการใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไป สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงตัดสินพระทัยให้มีการแปลพระคัมภีร์ให้เป็นรูปแบบที่ชาวกรีกร่วมสมัยโดยส่วนใหญ่เข้าใจได้มากที่สุด มากกว่าการที่จะต้องให้ประชาชนไปเรียนภาษาโคอีนกรีก แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านการแปลพระคัมภีร์ได้พิจารณาว่า มันเป็นเหมือน"ประหนึ่งการละทิ้ง 'มรดกอันศักดิ์สิทธิ์' ของกรีซ"[56]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1901 การแปลพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่จากภาษาโคอีนกรีกไปเป็นภาษากรีกสมัยใหม่ซึ่งพระนางทรงสนับสนุนได้ตีพิมพ์โดยไม่ผ่านการอนุมัติจากเถรสมาคมกรีก พระคัมภีร์ตั้งราคาไว้ที่หนึ่งดรักมา ซึ่งราคาต่ำกว่าต้นทุนจริงมาก และเป็นฉบับที่ขายดี เพื่อลดความขัดแย้งกับฝ่ายต่อต้านการแปล ทั้งข้อความเก่าและข้อความใหม่ยังคงได้รับการรวมไว้และภาพตรงข้ามหน้าแรกได้มีการเขียนระบุไว้ว่า "สำหรับใช้ศึกษาในครอบครัวเท่านั้น" มากกว่าการใช้ในโบสถ์[57]

ในขณะเดียวกัน การแปลอีกสำนวนหนึ่งได้แปลสำเร็จโดยอเล็กซานดรอส พัลลิส ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในขบวนการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่สนับสนุนการใช้อักษรเดโมติกในภาษาเขียน การตีพิมพ์ฉบับแปลนี้ได้เริ่มตีพิมพ์เป็นชุดบทความในหนังสือพิมพ์ อโครโปลิส ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1901[58] นักศาสนศาสตร์สายบริสุทธิ์ได้ประณามพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้ว่า "เป็นการเย้ยหยันมรดกตกทอดที่ล้ำค่าของชาติ" และอัครบิดร โจอาคิมที่ 3 แห่งคอนสแตนติโนเปิลทรงออกมาประณามพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้[59] ฝ่ายของสื่อหนังสือพิมพ์ของกรีกได้ออกมากล่าวหาพัลลิสและผู้สนับสนุนอักษรเดโมติกว่าเป็นพวกดูหมิ่นศาสนาและเป็นพวกขายชาติ[58] การจลาจลได้เกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ ซึ่งบางส่วนได้ถูกปลุกระดมจากอาจารย์ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม[60] กลุ่มนักศึกษาได้เรียกร้องให้มีการปัพพาชนียกรรมพัลลิสและทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลพระคัมภีร์ รวมทั้งสมเด็จพระราชินีโอลกาและโปรโคปิอุส มุขนายกมหานครแห่งเอเธนส์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแปลหลักตามคำขอของสมเด็จพระราชินี[61]

กองทัพได้ถูกเรียกมาเพื่อรักษาความสงบและจัดการความขัดแย้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 คนและบาดเจ็บกว่า 60 คน[62] ในเดือนธันวาคมสำเนาการแปลพระคัมภีร์ฉบับสมเด็จพระราชินีโอลกาถูกยึดและไม่ได้รับการอนุญาตให้จัดจำหน่าย ทุกคนที่ขายหรืออ่านสำนวนพระคัมภีร์ฉบับแปลได้ถูกข่มขู่ด้วยการปัพพาชนียกรรม[63] ความขัดแย้งนี้เรียกว่า "อีวานเกลีกา (Evangelika) "[64] หรือ "ปัญหาพระวรสาร" ซึ่งมาจากคำว่า "Evangelion" (อีวานเกเลียน) ซึ่งเป็นภาษากรีกของคำว่า "Gospel" (พระวรสาร) และเหตุการณ์นี้นำไปสู่การสละตำแหน่งของมุขนายกมหานคร โปรโคปิอุส และการล่มสลายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรียอร์โยส ธีโอโตกิส[65][66]